วันพฤหัสบดีที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2553

สารอันตรายที่พบบ่อยที่สุด

นายศรายุธ กิตติสิทโธ เลขประจำตัว 5214770027 วิศวกรรมศาสตรมหาบัณฑิต (การตรวจสอบและกฎหมายวิศวกรรม) มหาวิทยาลัยรามคำแหง


เนื่องด้วยกระผมประกอบอาชีพรับตรวจสอบอาคาร ตามพ.ร.บ. ควบคุมอาคาร ในอาคารเหล่านั้นแม้จะมีสารอันตรายหลายชนิดแต่กระผมไม่ได้สัมผัสสารอันตรายเหล่านั้นโดยตรง โดยสารอันตรายที่กระผมสัมผัสโดยตรงส่วนใหญ่จะเป็นสารอันตรายที่พบในที่อยู่อาศัย คือ


กรดไฮโดรคลอริก (Hydrochloric acid, HCl)
1. ประเภทการจำแนกตามข้อกำหนดขององค์การสหประชาชาติ
กรดไฮโดรคลอริกหรือกรดเกลือ เป็นสารประกอบเคมีประเภทกรด ที่ได้จากการละลายของแก็สไฮโดรเจนคลอไรด์ในน้ำ เป็นของเหลวใส ไม่มีสี หรือมีสีเหลืองอ่อน มีกลิ่นฉุน กรดไฮโดรคลอริกถูกจัดจำแนกตามข้อกำหนดขององค์การสหประชาชาติให้เป็นวัตถุอันตรายประเภทที่ 2 คือ ก๊าซ โดยเป็นก๊าซพิษ (Toxic Gas) และยังจัดอยู่ในกลุ่มวัตถุอันตรายประเภทที่ 8 สารกัดกร่อน
UN Number: 1789
Chemical Abstracts Service Registry Number (CAS): 7647-01-0





2. สถานที่ที่ทำให้เจอ
พบกรดไฮโดรคลอริกในครัวเรือน

3. กิจกรรมที่ทำให้เจอ
พบกรดไฮโดรคลอริก ในการทำความสะอาดห้องน้ำ เนื่องจากกรดไฮโดรคลอริกเป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์น้ำยาล้างห้องน้ำ

4. ความเป็นพิษ
กรดไฮโดรคลอริกมีพิษเฉียบพลัน LC50 (inhalation, rat): 3124 ppm (V) /1 h
พิษของกรดไฮโดรคลอริกที่มีต่อร่างกาย
- ระบบทางเดินหายใจ
กรดไฮโดรคลอริกก่อให้เกิดการระคายเคืองเยื่อบุจมูก ลำคอ และเยื่อบุทางเดินหายใจ อาการจะเริ่มเกิดขึ้นเมื่อสูดดมเข้าไปในปริมาณ 35 ส่วนในล้าน หากได้รับเข้าไป 50 - 100 ส่วนในล้าน อาการจะรุนแรงจนทนไม่ได้ ผลที่เกิดขึ้นกับเยื่อบุทางเดินหายใจส่วนบน เมื่อได้รับกรดไฮโดรคลอริกในปริมาณมาก อาจทำให้เนื้อเยื่อบวมอย่างมาก จนเกิดการอุดตันทางเดินหายใจ ผู้ที่ได้รับพิษขั้นรุนแรงจะมีอาการหายใจหอบ หายใจไม่ทัน เนื่องจากภาวะอุดกั้นหลอดลมขนาดเล็ก บางรายอาจเกิดภาวะปอดบวมน้ำซึ่งเป็นอันตรายอย่างมาก ระบบหายใจอาจล้มเหลว ทำให้เสียชีวิตได้ สำหรับในเด็กอาจเกิดอาการคล้ายหอบหืด ซึ่งจะเป็นอยู่นานหลายเดือน และไม่ค่อยตอบสนองต่อการรักษาด้วยยาขยายหลอดลม
- สมดุลกรด-ด่างของร่างกาย
อาจเกิดขึ้นได้จากการได้รับพิษทางระบบทางเดินอาหาร เนื่องจากคลอไรด์อิออนเพิ่มสูงขึ้น ในเด็กที่มีอัตราการเผลาผลาญในร่างกายสูงจะได้รับผลกระทบมากกว่าปกติ ถึงขั้นเป็นอันตรายต่อชีวิตได้
- ผิวหนัง
แผลที่ผิวหนังเป็นลักษณะแผลลึก คล้ายแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก อาจเกิดแผลที่เยื่อบุซึ่งเป็นเนื้อเยื่ออ่อนได้เช่นกัน การได้รับพิษโดยการสัมผัสกรดไฮโดรคลอริกเข้มข้น จะทำให้เกิดแผลเป็นขนาดใหญ่และลึก หากสัมผัสสารละลายที่เจือจาง ก็จะเกิดเป็นผื่นผิวหนังอักเสบและระคายเคือง ในเด็กจะพบปัญหาที่ผิวหนังมากกว่าผู้ใหญ่
- พิษต่อตา
ไอระเหยของกรดไฮโดรคลอริก ทำให้เซลล์กระจกตาเกิดการตาย เลนส์ตาเกิดเป็นต้อกระจก และความดันภายในลูกตาเพิ่มขึ้นจนกลายเป็นต้อหินได้ กรณีที่สัมผัสกับสารละลายที่เจือจาง จะเกิดแผลที่กระจกตาด้านนอก อาจทำให้เกิดแผลไหม้อย่างรุนแรง และก่อให้เกิดทำลายตาอย่างถาวรได้
- ระบบทางเดินอาหาร
ก่อให้เกิดอาการปวดท้องรุนแรง กลืนลำบาก คลื่นไส้ อาเจียน การได้รับพิษโดยการกินกรดไฮโดรคลอริกเข้มข้น จะทำให้เกิดการหลุดลอกของเยื่อบุหลอดอาหารและกระเพาะอาหาร เกิดเป็นแผลภายใน มีเลือดออก แผลอาจทะลุได้
- ระบบหัวใจและหลอดเลือด
เกิดขึ้นเมื่อได้รับพิษจากการกินเข้าไป หรือสัมผัสในปริมาณสูง กรดไฮโดรคลอริกทำให้ความดันโลหิตลดต่ำลง เกิดภาวะเลือดออกในทางเดินอาหาร และระบบสมดุลน้ำและของเหลวในร่างกายเสียไป การทำหน้าที่ของปอดจะกลับมาเป็นปกติหลังจากได้รับพิษ 7 - 14 วัน

การปฐมพยาบาล
- เมื่อสูดดม ให้รับอากาศบริสุทธิ์ และนำส่งแพทย์
- เมื่อถูกผิวหนัง ชะล้างออกด้วยน้ำปริมาณมาก ทาด้วยพอลีเอทิลีนไกลคอล 400 ถอดเสื้อผ้าที่เปื้อนออกทันที
- เมื่อเข้าตา ชะออกด้วยน้ำปริมาณมากเป็นเวลาอย่างน้อย 10 นาที โดยลืมตากว้าง แล้วพบจักษุแพทย์ทันที
- เมื่อกลืนกิน ให้ผู้ป่วยดื่มน้ำปริมาณมาก (หลายลิตรถ้าจำเป็น), ไม่ควรทำให้อาเจียน (อาจทำให้เกิดการกัดจนทะลุ) และรีบนำส่งแพทย์ทันที ห้ามปรับสภาพสารให้เป็นกลาง
- ในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุ หรือรู้สึกไม่สบาย ควรปรึกษาแพทย์ทันที พร้อมทั้งแสดงฉลากของสารเคมี

5. อันตราย
กรดไฮโดรคลอริกมีความเสถียรภายใต้สภาวะปกติของการใช้และการเก็บ แต่ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับความร้อนและแสง เพราะหากสารนี้สัมผัสกับความร้อน จะเกิดการสลายตัวและปล่อยฟูม/ควันของไฮโดรเจนคลอไรด์ที่เป็นพิษ และจะเกิดปฏิกิริยากับน้ำหรือไอน้ำ ทำให้เกิดความร้อน และเกิดฟูมหรือควันของสารที่เป็นพิษและมีฤทธิ์การสลายตัวของสารจากปฏิกิริยาออกซิเดชั่น เนื่องจากความร้อนจะทำให้เกิดฟูม/ควันของก๊าซไฮโดรเจนซึ่งสามารถระเบิดได้ นอกจากนี้ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับโลหะ โลหะออกไซด์ ไฮดรอกไซด์ เอมีน คาร์บอเนต สารที่เป็นเบส และสารอื่น ๆ เช่น ไซยาไนด์ ซัลไฟด์ และฟอมัลดีไฮด์ ซึ่งเป็นสารที่เข้ากันไม่ได้ การสัมผัสกับโลหะจะก่อให้เกิดการปล่อยก๊าซไฮโดรเจนซึ่งไวไฟออกมา และหากต้องการเจือจางกรดให้ค่อย ๆ เติมกรดปริมาณน้อย ๆ ลงในน้ำ อย่าใช้น้ำร้อนหรืออย่าทำการเติมน้ำลงในกรดเพราะจะทำให้ไม่สามารถควบคุมจุดเดือดของสารได้ และเมื่อทำการเปิดภาชนะบรรจุสารที่ทำจากโลหะให้ใช้อุปกรณ์ที่ป้องกันการเกิดประกายไฟ เพราะในการเปิดอาจเกิดก๊าซไฮโดรเจนขึ้นได้

6. แนวทางการป้องกัน
การป้องกันขณะปฏิบัติงาน
หากต้องมีการสัมผัสกรดไฮโดรคลอริกโดยตรงหรือผลิตภัณฑ์ที่มีกรดไฮโดรคลอริกผสม ควรจัดให้มีระบบระบายอากาศที่ดี และมีอุปกรณ์ป้องกันร่างกายในระหว่างปฏิบัติงานดังนี้
- สวมเสื้อคลุมตลอดเวลาที่ปฏิบัติงานเพื่อป้องกันอันตรายจากการหกและกระเด็น
- สวมถุงมือทุกครั้ง โดยเลือกใช้ถุงมือที่มีความยาวถึงศอก และควรใช้ถุงมือสำหรับใช้กับกรดที่มีฤทธิ์กัดกร่อน โดยเป็นถุงมือยางนีโอพรีนหรือไวนิล
- สวมรองเท้าตลอดการใช้สารเคมี เพื่อป้องกันอันตรายที่เกิดจากสารเคมีหกหรือรั่วไหลโดยทั่วไปควรใช้รองเท้าหนังหุ้มส้น แต่หากมีสารเคมีหกหล่นบนพื้นในปริมาณมากควรสวมรองเท้าบู๊ท ชนิดไวนิล
- สวมแว่นตาป้องกันส่วนใบหน้าตลอดเวลาที่ปฏิบัติงานเพื่อป้องกันไอกรด





การป้องกันอันตรายจากการจัดเก็บ
สำหรับการป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดอันตรายจะต้องให้ความสำคัญกับการจัดเก็บสารด้วย โดยภาชนะที่บรรจุต้องปิดมิดชิด และป้องกันการเสียหายทางกายภาพ เก็บในบริเวณที่เย็นและแห้ง มีพื้นป้องกันกรด มีการระบายอากาศเพียงพอ และมีระบบระบายออกที่ดี เก็บห่างจากการสัมผัสโดยตรงกับแสง ความร้อน น้ำ และสารที่เข้ากันไม่ได้ และไม่นำเอาภาชนะที่บรรจุกรดไฮโดรคลอริกไปใช้เพื่อวัตถุประสงค์อื่น

การป้องกันการปนเปื้อนสู่สิ่งแวดล้อม
กรดไฮโดรคลอริกเป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิต เนื่องจากทำให้เกิดการเปลี่ยนค่าพีเอช หากมีการปนเปื้อนสู่สิ่งแวดล้อม สิ่งมีชีวิตจะได้ผลผลกระทบทางชีวภาพโดยตรง โดยเฉพาะสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในน้ำ ดังนั้นห้ามทิ้งกรดไฮโดรคลอริกลงสู่ระบบน้ำ น้ำเสีย หรือดิน กรดไฮโดรคลอริกที่รั่วไหลลงสู่ดิน จะไม่เกิดการสลายตัวทางชีวภาพ แต่อาจถูดดูดซึมเข้าสู่แหล่งน้ำใต้ดินได้

การปฏิบัติเมื่อเกิดการรั่วไหลของกรดไฮโดรคลอริก
-
ต้องให้จัดให้มีการระบายอากาศในบริเวณที่มีการหกรั่วไหล
- สวมใส่อุปกรณ์ป้องกันอันตรายที่เหมาะสม
- กั้นแยกเป็นพื้นที่อันตราย และกันบุคคลที่ไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้อง
- ไม่สวมใส่อุปกรณ์ป้องกันออกจากบริเวณหกรั่วไหล
- เก็บของเหลวที่หกรั่วไหลและนำกลับมาใช้ใหม่ถ้าสามารถทำได้
- ทำให้สารเป็นกลางโดยใช้สารที่เป็นเบส เช่น โซดาไฟ ปูนขาว และทำการดูดซับส่วนที่หกรั่วไหลด้วยวัสดุที่เฉื่อย เช่น แร่หินทราย (Vermiculite) ทรายแห้ง ดิน และเก็บใส่ในภาชนะบรรจุสำหรับกากของเสียเคมี

การปฏิบัติเมื่อเกิดเพลิงไหม้
- ให้สวมใส่อุปกรณ์ช่วยหายใจชนิดมีถังอากาศในตัว (SCBA) พร้อมหน้ากากแบบเต็มหน้า
- ใช้น้ำฉีดหล่อเย็นเพื่อหล่อเย็นภาชนะบรรจุที่สัมผัสเพลิงไหม้ และให้อยู่ห่างจากภาชนะบรรจุสาร
- ใช้น้ำเป็นสารดับเพลิง โดยฉีดเป็นฝอย
- ทำให้สารเป็นกลางโดยใช้โซดาไฟหรือปูนขาว

ที่มา

http://msds.pcd.go.th/
http://www.chemtrack.org/MSDSSG/Merck/msdst/8232/823249.htm
http://www.dss.go.th/dssweb/st-articles/files/cp_8_2549_hydrochloric.pdf
http://www.worldchemical.co.th/product_detail.php?id=23 http://www.tcpa.or.th/thai/safeuse21.htm

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น